หัวข้อข่าวที่น่าสนใจเกี่ยวกับปัญหาการศึกษาไทย
เมื่อครูต้อง “หมกมุ่นกับเอกสาร”
ในช่วง 10 กว่าปีมานี้
เสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายโดยเฉพาะบนโลกออนไลน์
พูดถึงคุณภาพเด็กไทยที่เสื่อมถอยลงเรื่อยๆ
ทั้งความรู้เชิงวิชาการและทักษะการใช้ชีวิตในสังคม เข้าทำนอง “เรียนก็ไม่เก่ง
นิสัยก็ไม่ดี” ด้านหนึ่งครูบาอาจารย์ทุกระดับชั้นกลายเป็นจำเลย
ถูกประณามว่าไม่สามารถสอนให้เด็กเป็นคนเก่ง-คนดีได้
บางส่วนลามไปถึงสถาบันการศึกษาที่ผลิตบุคลากรวิชาชีพครูว่าเป็นคณะที่ไร้ประโยชน์
เปลืองงบประมาณ สมควรถูกยุบไปเลยทีเดียว
อีกด้านหนึ่ง เสียงสะท้อนของผู้ประกอบวิชาชีพครู
ระบุว่าทุกวันนี้ชีวิตการทำงานของครูถูกแขวนไว้กับ“เอกสารทางวิชาการ” ในแต่ละปี
ครูคนหนึ่งต้องทำเอกสารประเมินมากมาย
รวมทั้งเดินสายอบรมสัมมนาเพื่อเป็นหน้าเป็นตาของสถาบันการศึกษาต้นสังกัด
อันมีผลต่อการเลื่อนชั้นยศและเงินค่าวิทยฐานะต่างๆ
ทั้งนี้เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าครูก็เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ต้องกินต้องใช้
มีครอบครัวต้องดูแล เมื่อถูกบังคับให้ต้องเลือกเช่นนี้
ครูหลายคนจึงจำใจละเลยงานสอนและดูแลความประพฤติเด็ก ไปให้น้ำหนักกับงานเอกสารแทน
“ทุกวันนี้นโยบายที่ลงมาถึงตัวครูเอง
เหมือนว่าเมื่อเปลี่ยนขั้วนโยบายก็ต้องเปลี่ยน
ต้องปรับตัวเพื่อเตรียมตัวประเมินเพื่อรองรับนโยบาย ดังนั้นก็จะมีแต่เรื่องประเมิน
ประเมิน ประเมินอย่างเดียว จนครูต้องมาเตรียมงานประเมิน ไม่มีเวลาให้ห้องเรียน
ละทิ้งห้องเรียน”
สามารถ สุทะ ครูห้องเรียนเรือนแพ
โรงเรียนบ้านก้อจัดสรร จ.ลำพูน และเป็นครูต้นแบบของตัวเอกในภาพยนตร์ดังเรื่องหนึ่ง
ระบายความรู้สึกถึงภาระหน้าที่ของครูในระบบการศึกษา ที่เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนขั้ว
หรือกระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนผู้บริหาร นโยบายก็มักจะเปลี่ยนไปด้วย
ผลคือครูต้องใช้เวลามากมายไปกับการปรับตัวเพื่อเตรียมการสอน
ภาระหนักจึงอยู่กับครูที่ไม่รู้ว่าจะต้องสอนอย่างไรกันแน่
และเคราะห์ร้ายที่สุดย่อมตกอยู่กับเด็ก เพราะเมื่อครูไม่ได้สอน
นักเรียนก็ไม่มีความรู้ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ผลการเรียนตกต่ำ
จึงอยากฝากให้ผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีอำนาจกำหนดนโยบาย ช่วยให้ความชัดเจนในเชิงนโยบาย
ไม่เปลี่ยนไปมาบ่อยๆ ด้วย เพื่อให้ผู้ปฏิบัติสามารถทำงานได้ถูกต้อง
“ฝากผู้ใหญ่นะครับ ถ้าเป็นไปได้ นโยบายควรจะทำให้เกิน 6 เดือนหรือ 1 ปี ถึงจะประเมินผล ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนขั้วก็เปลี่ยนนโยบาย
ผู้ปฏิบัติก็จะปฏิบัติไปครึ่งๆ กลางๆ ก็จะสรุปไม่ได้ว่ามันให้ผลจริงหรือเปล่า?
ดังนั้นผู้ปฏิบัติ หรือครูก็จะเหมือนว่าเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เสียเวลา
ผลการเรียนตกต่ำ นักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้
อันนี้คือปัญหาหลักเลย ทั้งๆ
ที่ครูมีหน้าที่สอนเด็กให้อ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น
แต่แล้วสิ่งเหล่านี้ย้อนกลับมาถามถึงครู ว่าครูไม่ได้สอนเด็กหรือ?
สังคมต้องถามว่าทำไมครูสอนเด็กให้อ่านหนังสือไม่ได้ล่ะ? คิดเลขไม่เป็นล่ะ? อย่างนี้มากกว่า” ครูสามารถ กล่าว
ขาดแคลนบัณฑิตแต่บัณฑิตก็ยังตกงาน
ประเทศเราไม่มีแผน
และกลไกการกำกับการผลิตกำลังคนเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ
ในขณะที่ผู้สำเร็จการศึกษาในบางสาขามีมากมายจนล้นงาน จนพบเนืองๆ ว่า
ในการรับสมัครงานบางตำแหน่ง
มีผู้สมัครหลายหมื่นคนเพื่อแย่งกันเข้าทำงานที่มีการรับเพียงไม่กี่สิบอัตรา แต่บางสาขาวิชากลับขาดแคลนกำลังคน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรม และทางด้านการแพทย์
เราต้องการให้มีผู้เข้าศึกษาสายอาชีวะประมาณครึ่งหนึ่ง
จึงจะทำให้มีกำลังคนเพียงพอต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ
แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่า มีผู้เข้าเรียนอาชีวะเพียง 27% ทั้งนี้
นับรวมถึงผู้ที่ไม่ได้เรียนสายอาชีวะแท้ แต่ไปเรียนอยู่ในวิทยาลัยอาชีวะด้วย เช่น
สาขาด้านการบริหาร ซึ่งหมายความว่า หากนับสายช่างจริงๆ จะมีจำนวนน้อยกว่านั้นมาก
กลายเป็นว่าในปัจจุบันเด็กที่เข้าเรียนในการจัดการศึกษาในระบบนั้นมีอนาคตที่ค่อนข้างชัดเจนว่าจะต้องตกงาน
และปัญหานี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด